ระบบบำบัดแบบเคมี
เป็นวิธีการบำบัดน้ำเสียโดยการแยกสารหรือสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ ในน้ำเสีย เช่น โลหะหนัก สารพิษ สภาพความเป็นกรด-ด่างสูง ที่ปนเปื้อนอยู่ด้วยการเติมสารเคมีต่าง ๆ ลงไป เพื่อให้เข้าไปทำปฏิกิริยาแยกสารปนเปื้อนต่าง ๆ แต่วิธีนี้มีข้อเสียคือ เมื่อเติมสารเคมีลงในน้ำเสียแล้วทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีค่าใช้จ่ายสำหรับสารเคมีค่อนข้างสูง ดังนั้นกระบวนการทางเคมีจะเลือกใช้ก็ต่อเมื่อน้ำเสียไม่สามารถบำบัดได้ด้วยกระบวนการทางกายภาพหรือชีวภาพ
การทำให้เกิดตะกอน (Precipitation)
อาศัยหลักการเติมสารเคมีลงไปทำปฏิกิริยาทำให้เกิดกลุ่มตะกอนตกลงมา โดยทั่วไปสารแขวนลอยจะมีประจุลบดังนั้นสารเคมีที่เติมลงไปจึงเป็นประจุบวกเพื่อทำให้เป็นกลาง การแยกด้วยวิธีนี้มีค่าใช้จ่ายสูงแต่ก็มีประสิทธิภาพสูงเช่นกัน ดังนั้นวิธีนี้จะเลือกใช้ต่อเมื่อไม่สามารถ แยกได้โดยกระบวนการทางชีวภาพหรือกายภาพโดยส่วนมากสารเคมีที่ทำให้เกิดตะกอนจะละลายน้ำ เช่น เกลือของสารประกอบต่างๆ เช่น เกลืออะลูมิเนียมซัลเฟตหรือสารส้ม (Al2(SO4)) เกลือเหล็ก (FeCl3, FeSO4) และเกลือของแคลเซียม (Ca(OH)2) ส่วนเกลือที่นำมาช่วยในการเกิดตะกอนได้ดียิ่งขึ้นนี้เป็นสารประกอบของ กลุ่ม Activated ของ Silica และ Poly-electrolytes โดยกระบวนการทางเคมีมีหลายวิธี เช่น
- การเกิดออกซิเดชันทางเคมี (Chemical oxidation)อาศัยหลักการเสียอิเล็กตรอนของอะตอมให้แก่สารเคมีที่เติมลงไปในน้ำเสียโดยสารเคมีนี้จะทำหน้าที่เป็นตัวออกซิไดซ์ (Oxidizing agent) เช่น การเปลี่ยน Fe2+ ซึ่งมีความเป็นพิษมากไปเป็นสาร Fe3+ ซึ่งมีความเป็นพิษน้อยกว่าด้วยคลอรีน
- การเกิดรีดักชันทางเคมี (Chemical reduction)เป็นปฏิกิริยาที่มีการรับอิเล็กตรอนจากสารเคมีที่เติมลงไปในน้ำเสีย ซึ่งมีสมบัติเป็นตัวรีดิวซ์ (Reducing agent) เช่น การเปลี่ยน Cr6+ ซึ่งมีพิษมากไปเป็น Cr3+ ด้วย เฟอรัสซัลเฟต (FeSO4) ในสภาพที่เป็นกรด
- การสะเทิน (Neutralization)เป็นการเปลี่ยนค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของน้ำเสียให้มีฤทธิ์เป็นกลาง (pH = 7) ถ้าต้องการปรับค่าน้ำเสียที่มีฤทธิ์เป็นกรด (pH < 7) ในน้ำเสียให้สูงขึ้นต้องเติมสารที่มีฤทธิ์เป็นด่าง เช่น แคลเซียมคาร์บอเนตหรือโซเดียมไฮดรอกไซด์ ส่วนกรณีถ้าต้องการปรับน้ำเสียมีฤทธิ์เป็นด่าง (pH > 7) ให้มีค่า pH ต่ำลงจะต้องเติมกรด เช่น กรดซัลฟิวริก กรดไนตริก กรดเกลือและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น